นักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกโรงเตือนภาคประชาสังคม หวั่นเยาวชนไร้ภูมิต้านทานชี้กระแส “การลงทุนคริปโตฯ” มาแรง มีนักเรียน นักศึกษาไม่น้อยกระโดดลงสนามตามเพื่อนและสื่อโฆษณาชี้ชวน โดยไม่มีความรู้ ชี้ส่วนใหญ่เสียมากกว่าได้
ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) แสดงมุมมองถึงผลกระทบของกระแสคริปโตฯ ที่มีต่อนักเรียน นักศึกษาในขณะนี้ว่า ปัจจุบันนี้ จำนวนนักลงทุนรุ่นใหม่เกิดขึ้นรวดเร็วอย่างมาก เด็กรุ่นใหม่สนใจการลงทุนประเภทเงินสกุลดิจิทัลมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มีการโฆษณาโปรโมชันนำคริปโตฯ มาใช้ตามร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือแม้กระทั่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันบ้างแล้ว ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ นักเรียน นักศึกษาเหล่านี้ส่วนใหญ่ขาด “ทักษะด้านการลงทุน” หรือ “Financial Literacy” ที่เพียงพอในการลงทุน และไม่พร้อมในการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนของตนที่มีต่อเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างดี และเรียนรู้อย่างรวดเร็วกว่าคนรุ่นอื่นๆ แต่ประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนอาจยังไม่มีมากเท่าที่ควร
“Cryptocurrency เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นใหม่ มีการเก็งกำไรกันสูง พร้อมๆ กับความผันผวนที่เกิดขึ้นสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าโดยรูปแบบนั้นจะมีลักษณะคล้ายการลงทุนในตลาดหุ้น แต่การลงทุนในหุ้นนั้นยังมีการกำกับดูแลเพื่อปกป้องนักลงทุน เช่น เพดานการขึ้นลงตามความเป็นจริง โดยอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจจริง ซึ่งใช้ผลประกอบการนำมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาการลงทุน โดยอาจจะผันผวนได้บ้างตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ในขณะที่ “Cryptocurrency” มีความเสี่ยงสูงกว่า ผันผวนได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา อาจทำให้นักลงทุนสิ้นเนื้อประดาตัวได้ทุกเมื่อ หากผู้เล่นไม่มีความรู้มากพอ นอกจากนี้ บางเหรียญยังอาจมีการหลอกลวงนักลงทุนอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคริปโตฯ ยังเป็นระบบการแลกเปลี่ยนซื้อขายแบบที่ไม่มีตัวกลางอย่างเช่น ธนาคาร ดังนั้นจึงไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยว่า การซื้อขายแลกเปลี่ยนของผู้ใช้งานหรือนักลงทุนจะมีความปลอดภัย”
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.บุญยิ่ง ได้แสดงความห่วงใยถึงนักเรียน นักศึกษา และเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่าอยากให้มีการศึกษาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ดีก่อนการลงทุน โดยที่จะต้องไม่ลืมเก็บออม แม้จะยังไม่ถึงวัยเกษียณ แต่การคิดเผื่อไว้ในวันที่ไม่มีรายได้จากการทำงานและการเก็บออมจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรให้ยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
“ไม่แนะนำให้มีการลงทุนในกรณีที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากนักเรียน นักศึกษาจำนวนมากยังไม่มีภูมิคุ้มกันและประสบการณ์การลงทุน หลายคนยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง และอาจเอาเงินที่ผู้ปกครองส่งมาให้เป็นค่าเทอม เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมาลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง หลายคนถอนตัวไม่ขึ้น การจมไม่ลง ไม่ยอมตัดขาดทุนหรือเมื่อขาดทุนก็เติมเข้าไป จนในที่สุดเกิดความเสียหายกลายเป็นหนี้นอกระบบได้ ซึ่งแม้ในวันนี้อาจจะมีบางคนที่โชคดีได้เป็นเศรษฐี อายุน้อยร้อยล้าน แต่เพียงไม่กี่วันสถานการณ์อาจพลิกผันเปลี่ยนจากหน้ามือ กลายเป็นหลังมือได้ด้วยเหมือนกัน” ผศ.ดร.บุญยิ่ง กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket